แกว่งแขนทุกวันโรคร้ายมลายสิ้น
วิธีรักษาโรคด้วยการแกว่งแขนเป็นวิธีการบริหารบำบัดอย่างหนึ่งซึ่งฝึกและยึดกุมได้ง่าย ขอแต่ให้ยืนหยัดทำประจำก็สามารถมีผลทำให้เส้นเอ็นผ่อนคลาย เลือดลมเดินสะดวก ขจัดความเจ็บปวด เสริมสุขภาพให้แข็งแรงได้
การบริหารแกว่งแขนมีผลดีในการรักษาทั้งโรคใหญ่ โรคเล็ก โรคเรื้อรังและโรครักษายาก การบริหารแกว่งแขนเป็นการบำบัดรักษาโรคของจีนโบราณ มีชื่อเดิมเรียกว่า "คัมภีร์ย้ายเส้นเอ็นพระโพธิธรรม" (ตั๊กม้อ)
วิธีการบำบัดแบบนี้ฝึกได้ง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก จะฝึกเมื่อใดที่ไหนก็ได้ทั้งสิ้น ขอแต่ให้มีความแน่วแน่และอดทน ฝึกแล้วก็เข้าใจได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นโรคใด เมื่อได้ฝึกแกว่งแขนไปแล้วประมาณ 3-5 วัน ก็จะรู้สึกว่าได้ผล ถ้าผลเกิดช้า นั่นก็แสดงว่าท่านยังทำไม่ดี ขอแต่สนใจค้นคว้าสักหน่อยให้เข้าใจชัดเจน ก็จะต้องได้ผลอย่างแน่นอน
เหตุไฉน "วิธีแกว่งแขน" จึงมีพลานุภาพใหญ่หลวงถึงเพียงนี้
ท่านควรจะรู้ว่า "การบริหารแกว่งแขน" ผันแปลมาจาก "คัมภีร์ย้ายเส้นเอ็น" ความหมายของคำว่า "ย้ายเส้นเอ็น" ก็คือการทำให้เส้นเอ็นที่อ่อนแอกลายเป็นเส้นเอ็นที่แข็งแรง เส้นเอ็นที่มีโรค กลายเป็นเส้นเอ็นที่เข้มแข็ง ทำให้ผู้ที่มีอาการป่วยอยู่ค่อยๆทุเลาเบาบางลง ผู้ที่ไม่ป่วยก็จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น
จุดหนักของการบริหารแบบนี้ เน้นอยู่ที่นิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อมือของแขนทั้งสองข้าง นิ้วเท้า ส้นเท้า หัวเข่าสองข้าง ผ่านการดึงเส้นเอ็น 12 เส้นของนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อมือ นิ้วเท้า ส้นเท้า หัวเข่าพร้อมๆกัน ทำให้เกิดการยืดหดสลับกันไป อาศัยการเคลื่อนไหวยืดหดของเส้นเอ็นเหล่านี้ ปรับเปลี่ยนความอ่อนแอเป็นความแข็งแรง จากป่วยเป็นหายป่วย จากไม่ป่วยเป็นแข็งแรง อายุยืน ทั้งๆที่ "คัมภีร์ย้ายเส้นเอ็น" มีคุณสมบัติในการรักษาที่ดีเช่นนี้ แต่ "การบริหารแกว่งแขน"กลับมีความยอดเยี่ยมไปกว่านั้นเป็นเพราะเหตุใด
การบริหารแกว่งแขน มีหลักฐานทางทฤษฏีทั้งการแพทย์จีนและการแพทย์ตะวันตก พิสูจน์แล้วว่าเกิดปฏิกิริยาที่ดี โดยเฉพาะเกี่ยวกับเลือดลมจะมีผลดีมาก อวัยวะภายในของเรานั้นจะมีเลือดมีลมพอหรือไม่ เดินได้สะดวกคล่องตัวหรือไม่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงหรืออ่อนแอ มีโรคหรือไม่มีโรคของคนเรา ตามทฤษฏีของแพทย์ตะวันตก ความร้อนและพลังงานในร่างกายคนเรามีส่วนสัมพันธ์อย่างใหญ่หลวงกับการเกื้อหนุนของอวัยวะภายใน เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง มีน้ำมันเบนซินเผาไหม้อยู่ในกระบอกสูบจึงจะสามารถรับแรงขับดันทางพลังงานเคมี ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวผลักดันให้รถยนต์ทั้งคันเคลื่อนที่ไปได้ ถ้าปราศจากพลังงานรถยนต์ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้
กระบวนการทางสรีรศาสตร์ของคนเราคือการคิดของสมอง การขยายและหดตัวของปอด การเต้นของหัวใจ การไหลเวียนของเลือด ตลอดจนการบีบตัวของลำไส้ กระบวนการเหล่านี้ล้วนทำให้สิ้นเปลืองความร้อนและพลังงาน ร่างกายต้องรักษาพลังความร้อนไว้ เพราะพลังความร้อนพอเพียง หน้าตาก็สดใส ถ้าไม่พอก็จะหมองคล้ำ
ที่มาของพลังความร้อน ได้มาจากอาหาร อาหารหลังจากผ่านการย่อยและดูดซึมแล้วยังไม่อาจก่อเกิดพลังความร้อนได้โดยตรง จะต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงทางเคมี เริ่มจากการหายใจเอาอ็อกซิเจนเข้าไป เพื่อให้อาหารที่ดูดซึมเข้าเส้นเลือดแล้วทำปฏิกิริยากับอ็อกซิเจนจึงสามารถเกิดพลังความร้อนขึ้นได้ ภายในเลือดคนเรานั้นมีอากาศที่รวบรวมมาจากปอด มีสิ่งบำรุงเลี้ยงที่ได้มาจากกระเพาะนำส่งไปยังเซลล์ทั่วร่างกายให้เกิดปฏิกิริยากับอ็อกซิเจนก็สามารถเกิดบทบาทเป็นพลังความร้อนได้ ในขณะเดียวกันก็นำอากาศเสียในเซลล์ทั่วตัวขับออกไปนอกตัว นั่นคือ อุจจาระและปัสสาวะนั่นเอง
ถ้าการไหลเวียนของเลือดก็ดี พลังงานดี กระบวนการทางสรีรศาสตร์ทั้งหมดของร่างกายก็ย่อมจะคล่องสะดวก ความสุขสบายของคนเราก็จะมีหลักประกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ กำลังที่เราใช้แกว่งแขนไม่ขาดระยะจะทำให้ปอดขยายตัว เสริมการไหลเวียนของเลือด เนื่องจากการสูบฉีดของหัวใจมีสิ่งบำรุงเลี้ยงช่วยเหลืออยู่ในเส้นเลือด เสริมการส่งสิ่งบำรุงเลี้ยงและอากาศให้เข้มแข็งขึ้น ตลอดจนการขับของเสียอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเรอ การผายลม และความร้อนที่เกิดขึ้นในร่างกายจึงได้ก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นการยืนยันเป็นความล้ำเลิศของการบริหารแกว่งแขน
หลักใหญ่ของการบริหารแกว่งแขนคือ การใช้ส่วนบนเบา ล่างหนัก โบกมือเหมือนแจวเรือ ยกทวารเหมือนกลั้นอุจจาระ สองตามองตรง นับจำนวนเพื่อให้รู้ว่าทำไปแล้วกี่เที่ยว แกว่งแขนเบาๆไปข้างหน้าใช้กำลัง 3 ส่วน และใช้กำลัง 7 ส่วนแกว่งแขนไปด้านหลัง ความคิดและการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องกันดังกล่าวนี้เป็นการช่วยให้ท่าทางของการบริหารแกว่งแขนบรรลุผลสำเร็จ และเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการแกว่งแขนโดยการกระดกนิ้วมือทั้ง 10 ไปข้างหน้า และกวักมือในการแกว่งกลับมาทางด้านหลังก็จะทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวด้วยซึ่งนั่นก็จะได้ผลยิ่งขึ้น
ยังมี "ควร" อีก 16 ตัวสำหรับผู้ที่บริหารแกว่งแขนจะต้องจำไว้ให้แม่นซึ่งเราควรทำไปพลางนึกคิดถึงมันไปพลาง ถ้าลืมสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปเสียแล้วการบริหารก็จะไม่สมบูรณ์
1. บนควร "เบา" "เบา" หมายถึงว่างเปล่าไร้น้ำหนัก ไร้ทุกสิ่งทุกอย่าง อาจจะนึกคิดในใจว่าท่อนบนของเราว่างเปล่าโดยสิ้นเชิง
2. ล่างควร "หนัก" "หนัก" หมายถึงหนาแน่น อาจจะคิดในใจว่า บนเบาล่างหนัก
3. หัวควร "ลอย" "ลอย" หมายถึงแขวน ให้คิดว่าคล้ายกับจะมีเชือกมัดผมเราให้คอตั้งขึ้น
4. ปากควร "เฉื่อย" "เฉื่อย" หมายถึงหุบ ควรปิดปากสนิทตามธรรมชาติ
5. อกควร "ปล่อย" "ปล่อย" ให้เหมือนสำลี ให้คิดว่าหน้าอกเบาบางไร้พลังดุจสำลี
6. หลังควร "ยก" "ยก" คล้ายกับมีอะไรใช้แรงดึงหลังท่านขึ้นไป
7. เอวควร "ตั้ง" "ตั้ง" หมายถึงอยู่กับที่ ให้คิดว่าเอวเหมือนแกนรถอยู่กับที่ในขณะที่ล้อหมุน
8. แขนควร "แกว่ง" แขนแกว่งช้าๆเหมือนพายเรือ
9. ศอกควร "ถ่วง" ศอกคือข้อศอก เวลาแกว่งแขน ให้ศอกอยู่ต่ำตลอดเวลา
10. ข้อควร "กวัก" ขณะที่แกว่งแขน ข้อมือควรจะกวักไปข้างหลัง ให้เอ็นที่ข้อมือตึงอันจะทำให้หน้าอกผายออก
11. มือควร "วาด" "วาด" ก็คือการพายเรือ มือแกว่งไปอยู่ข้างหลังเหมือนการวาดคัดท้ายเรือ อันจะทำให้อวัยวะภายในถูกดึงให้เคลื่อนไหว อยู่ตลอดเวลา
12. ท้องควร "ตึง"ถ้าหากส่วนท้องแข็งเหมือนเหล็กก็จะทำให้เกิดความรู้สึกบนล่างหนักได้ง่าย
13. ก้นควร "หย่อน" ขาทั้งสองเหมือนหนีบเข้าหากันก็ย่อมจะทำให้ส่วนก้นหย่อนลงไป
14. ทวารควร "ดึง" "ดึง" เหมือนการกลั้นอุจจาระ ยกทวารดึงขึ้น
15. ส้นควร "กด" เมื่อก้นหย่อน เอวจะตรง ส้นทั้ง 2 ข้างจะกดหนักลง
16. เท้าควร "จิก" ใช้ความนึกคิดให้ปลายเท้าจิกลงกับพื้น ก็จะบรรลุ "บนเบาล่างหนัก" ตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ท่านจะต้องสนใจหลักอีก 9 ประการ
1. เวลาทำการบริหารแกว่งแขนควรให้ท้องว่างจึงจะดี หลังอาหารก็ควรห่างไปสัก 2-3 ชั่วโมงจึงจะทำเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อกระเพาะอาหารและลำไส้
2. ศรีษะตั้งตรง ตามองไปข้างหน้า
3. เมื่อแรกทำคนหนุ่มสาวควรเริ่มต้นด้วยจำนวน 500 เที่ยว ผู้มีอายุ 300-400 เที่ยว วันที่สองก็แกว่งตามความพอใจเท่าที่ร่างกายจะอำนวยให้ แต่ถ้าแกว่งถึง 2000 ก็ควรหยุดเพื่อมิให้ร่างกายสูญเสียพลังงานความร้อนมากเกินไป
4. จะต้องนับด้วยตัวเอง เมื่อนับจะเกิดสมาธิ
5. เพื่อที่จะลดภาระการจดจำ ร้อยแรกให้กำหนดอยู่บนกระหม่อม ร้อยที่สองไว้ที่หูซ้าย ร้อยที่สามไว้ที่หูขวา ร้อยที่สี่ไว้ที่จมูก ร้อยที่ห้าไว้ที่คาง ร้อยที่หกขึ้นไปบนกระหม่อมอีก แล้วก็ไล่ลำดับเหมือนเดิมจนครบเดิม จนครบ 2000
6. ความชัดเจนที่ทำก็คือเมื่อทำครั้งแรก 500 เที่ยวใช้เวลา 15 นาที คิดไปจากนี้ครึ่งชั่วโมงก็ 1000 เที่ยว 1 ชั่วโมงก็ 2000 เที่ยว
7. เวลาแกว่งแขน ทางที่ดีที่สุดคือ เอาปลายลิ้นแตะเพดานปากเบาๆอยู่ตลอดเวลา
8. เมื่อทำไปนานๆถ้าสามารถจะกลั้นลมหายใจในระหว่างแกว่งแขน 30 ครั้งจึงค่อยผ่อนลมหายใจออกมา จะสามารถกระตุ้นเลือดลมของอวัยวะภายในได้ ถ้ากลั้นไม่ได้นานเช่นนั้นก็พิจารณาลดจำนวนลงตามความเหมาะสม
9. การดึงปากทวาร ถ้าเพ่งความนึกคิดไปไว้ที่นั่นก็จะดี บังคับให้มันอย่าหย่อนลงจะสามารถช่วยลมปราณในท้องให้เข้มแข็งขึ้น
ร่างกายเป็นระบบการเคลื่อนไหวระบบหนึ่ง อวัยวะต่างๆที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่างดำรงอยู่โดยอาศัยซึ่งกันและกัน ต่างเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน เลือดลมเป็นปัจจัยหลักให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น การปรากฏตัวของ"มะเร็ง" ก็คือผลที่เลือดลมเกิดปัญหานั่นเอง
แพทย์แผนโบราณจีนมองการต่อสู้กับมะเร็งเป็นการต่อสู้ภายในระบบร่างกายก็ได้มีทัศนะว่ามะเร็งสามารถจะถูกพิชิตได้ถ้าเราจัดระบบเลือดลมให้สัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆด้วย
ทัศนะเช่นนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นอย่างใหญ่หลวงแก่ผู้ที่ต่อสู้กับมะเร็ง ทำให้เขาสามารถรวมจิตใจ ความมุ่งมั่น มีอารมณ์ฮึกเหิมที่จะพิชิตโรคร้ายนี้
การแกว่งแขนสามารถจะกระตุ้นให้เกิดการเจริญอาหาร ช่วยให้นอนหลับ เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง สามารถรักษาโรคประสาทอ่อน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคลม โรคไต อัมพาต
รวมความแล้วแพทย์แผนโบราณจีนเห็นว่าปัญหาสุขภาพมนุษย์นั้นโดยพื้นฐานเป็นปัญหาของเลือดลมซึ่งการแกว่งแขนสามารถแก้ปัญหานี้ให้หมดไป
การเคลื่อนไหวแกว่งแขนนี้ฝึกง่าย ได้ผลเร็ว เหมาะทั้งชายและหญิงทุกเพศทุกวัย จึงใคร่เชื้อเชิญให้ท่านผู้สนใจลองฝึกดูด้วยตนเอง จะเกิดผลอย่างคาดไม่ถึง อันจะช่วยเสริมสุขภาพพลานามัยของทุกท่านให้ดีขึ้นอย่างใหญ่หลวง.
ข้อมูลจากหนังสือกำเนิดการเคลื่อนไหวแกว่งแขน
และ http://www.nfc.go.th/042103/online/exercise/tamo/tamo1.htm