2015-11-19

โซเดียมในอาหาร


เนื่องจากเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาปีกว่า ๆ เลยค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับโรคนี้ ประกอบกับไม่ชอบกินยาสักเท่าไหร่ เลยว่าจะลดละเลิกอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงซะ วันนี้เจอบทความของคุณ ธารดาว ทองแก้ว เกี่ยวกับ โซเดียม ที่มีผลร้ายต่อโรคนี้ เลยเอามาแปะไว้ในเวป จะได้กลับมาอ่านได้เรื่อย ๆ 

ขอบคุณเป็นอย่างสูงค่ะ
-------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องน่ารู้ - ธารดาว ทองแก้ว -ระวัง... อาหารโซเดียมสูง

"เค็ม" ...เป็นอีกรสชาติหนี่งที่ทำให้อาหารอร่อยขึ้น จนคนส่วนใหญ่เผลอใจ ติดรสเค็มโดยไม่รู้ตัว และอาจไม่รู้ว่าตามหลักโภชนบัญญัตินั้น เขาแนะนำให้ประชาชน บริโภคน้ำมัน น้ำตาล และเกลือ น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เช่น คนในวัยผู้ใหญ่ควรได้รับโซเดียมประมาณวันละ ๒๓๐ มิลลิกรัม หรือประมาณ ๑ ใน ๑๐ ของ ๑ ช้อนชา เท่านั้น
(ปริมาณสูงสุดที่องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้คือ วันละ ๖ กรัม ซึ่งมีโซเดียม อยู่ ๒,๔๐๐ มิลลิกรัม)
หากเรากินอาหารรสเค็มจัดที่ได้จากเกลือโซเดียม มากกว่า ๖ กรัมต่อวัน หรือมากกว่า ๑ ช้อนชาขึ้นไป เป็นประจำ ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคลมปัจจุปัน (หรือโรคหลอดเลือดสมองแตก) โรคหัวใจ และ ไตวาย รวมทั้งโรคกระดูกพรุน ขณะเดียวกันคนที่เริ่มเป็น โรคต่างๆ ข้างต้นนั้น ก็ต้อง ระมัดระวังอาหารที่มีโซเดียมสูง อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ในโรคที่เป็นอยู่ หรือกลายเป็นโรคเรื้อรังที่รักษายาก และอาจเป็น อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
*** โซเดียมคืออะไร 
โซเดียมคือ เกลือแร่ (สารอาหาร) ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุม ความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิต ให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงาน ของประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย) ตลอดจนการดูดซึมสารอาหาร บางอย่าง ในไตและลำไส้เล็ก
โซเดียมที่เราบริโภคกันเป็นประจำก็คือโซเดียมที่อยู่ในรูปของ เกลือแกง (เกลือ มีส่วนประกอบอยู่ ๒ อย่าง คือโซเดียมกับคลอไรด์) น้ำปลา ซึ่งมีรสเค็ม แต่ยังมีอาหารอีกมากชนิดที่ไม่มีรสเค็ม แต่มีโซเดียม แฝงอยู่สูงมาก ชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง จึงเป็นความจำเป็นที่เราทุกคน ต้องรู้ว่าอาหารชนิดใดบ้าง ที่มีโซเดียมสูง เพื่อจะได้ไม่เผลอกินเพลินจนเจ็บป่วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนไทยกินเกลือ ที่มีอยู่ ในอาหารและเครื่องปรุงรส โดยเฉลี่ยวันละประมาณ ๗ กรัม นี่เป็นคำตอบว่าทำไมคนไทย จึงป่วย ด้วยโรค จากการกินเพิ่มขึ้นทุกวัน
*** อาหารที่มีโซเดียม ได้แก่
๑. อาหารธรรมชาติ หลายคนอาจ เพิ่งทราบว่าโซเดียมมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติแทบทุกชนิด โดยอาหารจาก เนื้อสัตว์ต่างๆ จะมีโซเดียมสูง ส่วนอาหารธรรมชาติที่มีโซเดียมต่ำ ได้แก่ ผลไม้ทุกชนิด ผัก ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง และเนื้อปลา ซึ่งอาหารสดเหล่านี้มีปริมาณโซเดียมที่เพียงพอ กับความต้องการของร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้อง เรียกหาเครื่องปรุงรสใดๆ เลย (นอกจากความอยาก หรือกิเลสส่วนตัวเรียกร้อง)
๒. อาหารแปรรูปหรือการถนอมอาหาร ได้แก่ อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง ผลไม้ดอง เป็นต้น
๓. เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ เช่น เกลือ (ทั้งเกลือเม็ดและเกลือป่น) น้ำปลา (ซึ่งจะมีปริมาณของเกลือ แตกต่างกันคือ ร้อยละ ๒๓-๓๕) ซอสปรุงรสที่มีรสเค็ม (เช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ รวมทั้งซอสหอยนางรม) ซอสปรุงรสที่ไม่มีรสเค็มหรือเค็มน้อย (เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่างๆ ที่มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ซอส เหล่านี้แม้จะมีโซเดียมปริมาณไม่มากเท่าน้ำปลา แต่คนที่ต้องจำกัดโซเดียมก็ต้องระวังไม่กินมากเกินไป)
๔. ผงชูรส แม้เป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยประมาณร้อยละ ๑๕ และที่เรารู้ๆ กันอยู่ก็คือ อาหารสำเร็จรูปต่างๆ ที่ขายในท้องตลาด มักมีการเติมผงชูรสลงไป แทบทุกชนิด เพื่อให้อาหารมีรสอร่อยขึ้น หรือแม้การปรุงอาหารในบ้าน หลายครัวขาดผงชูรสไม่ได้เลย (ความอร่อยนี้เป็นสิ่งเสพติดที่มีโทษต่อสุขภาพ)
๕. อาหารกระป๋องต่างๆ เช่น ผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ขนมกรุบกรอบ เป็นถุง เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้มีการเติมเกลือหรือสารกันบูด ซึ่งมีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก
๖. อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปต่างๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง
๗. ขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู (Baking Powder หรือ baking Soda) เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ซึ่งผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่านี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบคาร์บอเนต) รวมถึงแป้งสำเร็จรูป ที่ใช้ทำขนมเองก็มี โซเดียมอยู่ด้วย เพราะได้ผสมผงฟูไว้แล้ว
๘. น้ำและเครื่องดื่ม น้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม แต่น้ำบาดาลและน้ำประปามีโซเดียมปนอยู่บ้าง ในจำนวนไม่
มากนัก ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อต่างๆ มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย เพราะมี จุดประสงค์ ให้เป็นเครื่องดื่ม สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไปด้วย ทำให้น้ำผลไม้เหล่านี้ มีโซเดียมสูง วิธีหลีกเลี่ยงคือดื่ม น้ำผลไม้สดจะดีกว่า
โดยภาพรวมจะเห็นว่าอาหารปรุงแต่ง มาก อาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการต่างๆ จะมีโซเดียมสูง ดังนั้น ถ้ากินอาหารแปรรูป หรืออาหารสำเร็จรูปมากหรือบ่อยเท่าไหร่ เราก็จะได้รับโซเดียมส่วนเกิน วันละเยอะแยะ มากมาย ทั้งที่ความจริงแล้ว ร่างกายต้องการเกลือ ในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะร่างกายไม่สามารถทนรับเกลือ ในปริมาณมากๆ ได้โดยเฉพาะทารกและเด็กเล็ก ที่ไม่สามารถ ขับถ่ายโซเดียมได้ดี เท่ากับผู้ใหญ่ ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรเติมเกลือในอาหารของลูกเล็กๆ หรือซื้ออาหาร สำเร็จมาให้ลูกกิน (ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ) ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็มีประกาศในเรื่องนี้ อย่างเคร่งครัด ที่ห้ามผู้ผลิตเติมเกลือหรือสารประกอบโซเดียมใดๆ ในอาหารเด็ก (แต่ก็ต้องระวัง เพราะอาจจะมีหลงหู หลงตาไปบ้าง)
*** กินเกลือให้น้อยลง
อย่างที่ได้ทราบกันแล้วว่าอาหารหลายชนิดมีเกลือ "ซ่อนเร้น" อยู่ ดังนั้นวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยลดการบริโภค เกลือลงคือ พยายามใช้เกลือ (น้ำปลา หรือซีอิ๊ว) ให้น้อยลงในการประกอบอาหาร หรือปรุงรสเวลากิน และอย่าลืมอ่านฉลากอาหาร ต่างๆ ทุกครั้งก่อนซื้อมากิน หรือคนที่ อ่านฉลากเสมอบางคน ก็ดูแค่เพียง ปริมาณแป้ง ไขมัน หรือน้ำตาลเท่านั้น แต่ลืมดูปริมาณของโซเดียม โดยทั่วไปฉลากอาหาร มักระบุปริมาณเกลือในรูปปริมาณโซเดียม วิธีเทียบหาปริมาณเกลือคือ ถ้าหน่วยของโซเดียม ที่ให้มา เป็นกรัม (ก.) ให้คูณด้วย ๒.๕ แต่หากหน่วยเป็นมิลลิกรัม (มก.) ให้คูณด้วย ๒.๕ แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้ มาหารด้วย ๑,๐๐๐ ปริมาณโซเดียมที่คนเราต้องการคือ วันละ ๐.๕ - ๒.๓ กรัม
อาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียม สูง กำลังก่อให้เกิดโรคกับผู้คนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ โรคความดันโลหิตสูง ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ฆาตกรเงียบ" เพราะมันมาแบบเงียบๆ แบบไม่มีสัญญานเตือน และกว่าจะรู้ตัว ก็ปรากฏว่า เป็นโรคความดันโลหิต สูงไปเสียแล้ว โรคนี้เป็นแล้วไม่หายขาด ขึ้นอยู่กับ การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยรายใด มีวินัยในการกินตามที่แพทย์แนะนำ ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ อย่างปกติสุขตามอัตภาพ แต่หากละเลยการดูแลตัวเอง ในที่สุดก็ จะมีโรคอื่นแทรกซ้อนตามมาอีก มากมาย และเมื่อนั้นความสุขในชีวิตก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมีความทุกข์ ทรมานจากโรคต่างๆ มาเบียดเบียน
ทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่อยากเจ็บป่วย หรือเป็นโรคอยู่แล้วและอยากให้อาการดีขึ้น คือ ต้องหัดกินอาหาร รสจืดให้ได้ เป็นปกติ กินอาหารรสจัดให้น้อยลง แล้วจะรู้ว่า รสจืดก็มีความอร่อย... อร่อยแบบจืดๆ
# ข้อมูลบางส่วนจาก นิตยสาร Gourmet & Cuisine January ๒๐๐๕ หน้า ๘๓

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๗ ม.ค. - ก.พ. ๒๕๔๘ -