2013-09-20

Brain...ถ้าไม่อยากสมองเสื่อม...ทำอย่างไร


ถ้าไม่อยากสมองเสื่อมทำอย่างไร


ช่วงนี้เริ่มเข้าใกล้ฤดูเกษียณอายุราชการของบรรดาข้าราชการต่างๆ ในขณะเดียวกันพวกเราทุกคนก็อายุมากขึ้นทุกวัน ความเชื่อในอดีต (แม้กระทั่งในปัจจุบัน) ของพวกเราส่วนใหญ่ก็คือเมื่อเราอายุมากขึ้น

สมอง เราก็จะเหมือนกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่เริ่มจะเสื่อมและหมดสภาพลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีจากพัฒนาการใหม่ๆ ของเทคโนโลยี ในเรื่องของ brain-imaging technology ที่เริ่มจะชี้ให้เห็นในอีกมิติหนึ่งว่าจริงๆ แล้วสมองเรา ไม่ได้เสื่อมลงเรื่อยๆ จนหมดอายุ แต่จริงๆ สมองเราสามารถที่จะสร้างตัวเองหรือเซลล์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ตลอดเวลา

มีศาสตร์ที่น่าสนใจในด้านการศึกษาสมองที่เรียกว่า neuroplasticity ที่พบว่าสมองเราจะมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และยิ่งเราใช้สมองเราก็ยิ่งทำให้เจ้าตัวเซลล์ประสาทหรืneurons ที่อยู่ในสมองเราคงอยู่ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราหยุดใช้เมื่อไร เจ้าเซลล์ประสาทก็จะค่อยๆ เสื่อมลง

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The SharpBrain Guide to Brain Fitness เขียนโดย Alvaro Fernandez ที่รวบรวมผลการศึกษาและวิจัยใหม่ๆ ในศาสตร์ที่เกี่ยวกับสมอง และมีคำแนะนำที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหาทางใช้สมองเพื่อให้สมองเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและไม่เสื่อมถอยลงทางเวลาที่ผ่านไป ลองมาดูข้อแนะนำห้าประการที่หนังสือเล่มนี้ให้ไว้นะครับ เผื่อท่านผู้อ่านจะสามารถนำไปปรับใช้เพื่อไม่ให้สมองเราเสื่อมได้



ประการแรก คืออย่าหยุดเรียนรู้ครับ มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ายิ่งคนมีการศึกษาสูง จะยิ่งมีโอกาสน้อยในการที่สมองจะเสื่อมลงตามอายุ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่มีการศึกษาสูงมักจะทำงานหรือมีงานที่ท้าทายและกระตุ้นสมองให้ต้องคิดอยู่ตลอดเวลา ยิ่งถ้าเรามีงานที่ท้าทายและกระตุ้นสมองอยู่เป็นประจำก็จะยิ่งจะเป็นการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ประการที่สอง คือให้เรียนรู้ในวัฒนธรรมใหม่ๆ ครับ อาทิเช่น การเรียนภาษาใหม่ๆ ถ้าจะให้ดีต่อสมองยิ่งขึ้น ควรจะเรียนรู้ในภาษาที่มีความแตกต่างจากภาษาเดิมของเราหรือภาษาไทยมากๆ นะครับ ยิ่งเรียนภาษาที่มีความแตกต่างจากภาษาของเรามากก็จะยิ่งท้าทายต่อสมองเพิ่มขึ้นครับ นอกจากการเรียนรู้ภาษาใหม่แล้ว การมีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศหรือไปอยู่อาศัยหรือไปเที่ยวต่างประเทศในระยะเวลาสั้นๆ ก็ช่วยพัฒนาเซลล์ประสาทในสมองครับ การที่จะต้องไปศึกษา และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไป จะทำให้เราต้องเอาใจใส่ต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ก็เป็นหนึ่งในวิธีการบริหารสมองครับ

ประการที่สาม คือการตั้งเป้าหมายในการทำงานที่ท้าทายหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Stretch Goals ครับ หลายครั้งพอพบเจอเป้าที่ท้าทายมากๆ เรามักจะท้อถอยหรือหมดกำลังใจ แต่จริงๆ แล้วถ้าเรามีเป้าหมายที่ท้าทายกลับจะยิ่งทำให้เราต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากยิ่งขึ้น และความท้าทายที่มากขึ้นก็มักจะทำให้เราต้องทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนเพื่อให้บรรลุเป้าที่ท้าทายดังกล่าว การที่ต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ ที่หลากหลายและแตกต่างจะส่งผลต่อการพัฒนาสมองเรามากขึ้น มีงานวิจัยหลายงานที่ชี้ให้เห็นอีกครับว่าการที่เรามีแต่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือเก่งแต่เฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ส่งผลดีต่อสมองเราในระยะยาว

ประการที่สี่ คือการที่รู้จักบริหารความเครียดที่ดีครับ การมีความเครียดที่มากเกินไปไม่ว่าความเครียดดังกล่าวจะเกิดจากปัจจัยภายนอกหรือความคิดเราเองก็จะทำลายเจ้าตัวเซลล์ประสาทในสมองเราและทำให้ไม่สามารถสร้างเซลล์ประสาทใหม่ขึ้นมาได้ครับ

ประการสุดท้าย คือการมีเพื่อนมากๆ ครับ เพราะการที่เรามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมหรือ Social Engagement ยิ่งช่วยทำให้สมองเราสุขภาพดีขึ้นครับ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะส่งผลให้การทำงานของสมองเราดีขึ้น ซึ่งก็มีข้อสงสัยอีกครับมีเพื่อนจำนวนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะ ก็มีการศึกษาอีกครับและพบว่าจำนวนเพื่อนที่สมองเรานั้นสามารถที่รับและประมวลได้ดีที่จำนวน 150 คนครับ (มีการตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบไว้ว่า Dunbars number)

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่าวิธีการทั้งห้าประการในการทำให้สมองเรามีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาตลอดเวลา และไม่เสื่อมไปตามวัยนั้น นอกเหนือจากจะช่วยสมองเราแล้วยังมีส่วนช่วยต่อความก้าวหน้าในการทำงานด้วยอีกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน รู้ทักษะใหม่ๆ การเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ การตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย การบริหารความเครียดที่ดี หรือ แม้กระทั่งการมีเพื่อนและเครือข่ายที่มาก ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยในการทำงานด้วยเช่นกันครับ 

สมองเรา จะมีการปรับเปลี่ยน และพัฒนาตลอดเวลา.... 

ถ้าหยุดใช้เมื่อไร เจ้าเซลล์ประสาท จะค่อยๆ เสื่อมลง....


ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์