2015-03-06

คู่มือดูแลโฮย่า













<<<<<<คู่มือดูแลโฮย่า>>>>>>


1. สภาพแสง จำไว้ว่า โฮย่าชอบแสง แต่ไม่ชอบแดด อธิบายดังนี้ คือ โฮย่าเป็นไม้อิงอาศัยไม้อื่น ทำให้พอเข้าใจได้ว่า เขาชอบแสง แต่ไม่อยากร้อนมากเกินไปเลยต้องอาศัยร่มเงาของไม้อื่น การเพาะเลี้ยงจึงต้องใช้วัสดุอื่นกำบังแสงแดดเพื่อไม่ให้ใบคลายน้ำมากเกินไป ส่วนมากจะใช้ สแลน ที่มีเปอร์เซ็นแสง 50 - 60 เปอร์เซ็น เพราะถ้าถึบแสงมากเกินไป จะทำให้ การสังเคราะห์ แสง และการดูดซึมน้ำ เกิดขึ้นน้อย ทำให้ พืชโตช้า และไม่ค่อยมีดอก

2. สภาพความชื้น (การให้น้ำ) ธรรมชาติของโฮย่าเป็นพืชอิงอาศัยไม้อื่น ลำต้นและรากเกาะแน่นไปกับต้นไม้ใหญ่ และอาศัยน้ำฝนน้ำค้างตามธรรมชาติ ทำให้เราพอเข้าใจได้ว่า โฮย่าต้องการความชื้น แต่ต้องการในปริมาณน้อย เพราะถ้าต้องการน้ำมากคงจะขึ้นอยู่บนพื้นดินมากกว่า ที่จะขึ้นอยู่บนต้นไม้ เมื่อนำมาปลูกเลี้ยง จึงต้องเลียนแบบธรรมชาติ คือใส่กระถางแขวน ตัวกระถางแขวนเปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ให้โฮย่าได้เกาะติดอาศัย กระถางต้องระบายน้ำได้ดีด้วย รดน้ำแล้วต้องไม่ขังในกระถางนาน ประมาณว่า รดน้ำต้องเปียก(ไหลออกก้นกระถางเลย) ครึ่งวันต้องชื้น(ใช้นิ้วจิ้มดูที่ก้นกระถาง) หนึ่งวันต้องแห้ง (ต้องให้เปียกสลับแห้ง) คือถ้ารดน้ำทุกวันโดยไม่ ให้รากแห้งบ้าง ก็จะทำให้รากและโคนเน่าง่ายมาก จำไว้ว่า ถ้าชื้น ยังไม่ต้องรด แต่ถ้าแห้ง จึงรดน้ำใหม่ หน้าร้อน 1 วันครั้ง หน้าฝน และ หนาว 2 วันครั้ง ปรับเปลี่ยนตามเหมาะสม

3. ปุ๋ย

3.1 ใส่ปุ๋ยละลายช้า (ออสโมโค้ท) นิยมใช้กันแพร่หลายเพราะไม่มีอันตรายต่อพืช เนื่องจากเคลือบสารโพลิเมอร์ไว้ ค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอหารออกมาทีละน้อย ทำให้ไม่ต้องใส่บ่อยและไม่สูญเสียจากการไหลไปกับน้ำที่รด ปุ๋ยชนิดนี้มีราคาสูงกว่าปุ๋ยเคมีธรรมดา มีทั้งสูตร 15-15-15 (หรือ14-14-14 หรือ 16-16-16 เรียกว่า "สูตรเสมอ" คือมีธาตุอาหารหลัก N-P-K ครบ) ยังมีอีกสูตรหนึ่งที่เพิ่มแมกนีเซียมด้วย เป็นสูตร 13-26-7+1.5% แมกนีเซียม (มีฟอสฟอรัสสูงสำหรับเร่งดอก) ความถี่ในการใส่ปุ๋ยละลายช้าอาจมีทั้งทุก 3 เดือนและทุก 6 เดือนแล้วแต่จะเลือกใช้

3.2 ปุ๋ยเคมีธรรมดา เป็นปุ๋ยเม็ดสำหรับบำรุงไม้ดอก มีแบ่งขายย่อยทีละ 1 กก. ตามร้านเคมีเกษตรทั่วไป เม็ดสีฟ้าหรือสารพัดสี (ฟ้า ขาว น้ำตาล ชมพู ปะปนกัน) ใช้สูตรตัวกลางสูง (ฟอสฟอรัสสูง) เช่น สูตร 8-24-24, สูตร 18-46-0 เป็นต้น ให้ใส่ทีละน้อย(5-10 เม็ด) และอย่าให้สัมผัสรากและโคนต้นโดยตรง มิฉะนั้นปุ๋ยจะกัดเนื้อเยื่อรากและโคนต้นอาจถึงตายได้ ความถี่ในการใส่แล้วแต่วิจารณญาณ 10-15 วันครั้ง แต่อย่าถี่มาก เมื่อออกดอกแล้วก็ปล่อยให้พักตัวบ้าง

3.3 ปุ๋ยสำหรับฉีดพ่นทางใบ (ปุ๋ยกล้วยไม้)
มีให้เลือกหลายสูตร ทั้งสูตรเสมอและสูตรตัวกลางสูง เลือกใช้ตามความเหมาะสมของอายุโฮย่า อย่าฉีดพ่นเวลามีแดดจัด เลือกฉีดพ่นเวลาเช้า (ก่อน 10 โมง) หรือเย็น (หลังบ่าย 3) ควรผสมสารจับใบลงไปด้วย (1-2 หยดต่อลิตร) เพื่อเพิ่มความสามารถในการเคลือบผิวใบให้ปุ๋ยอยู่บนใบได้นานขึ้น