2015-10-22
9 วิธี หยุดทรมาน จากอาการปวดศีรษะ
9 วิธี หยุดทรมาน จากอาการปวดศีรษะ (สุขภาพดี)
เพราะอาการปวดศีรษะอยู่ใกล้ตัวเราทุกคน ยิ่งสาว ๆ คนไหนทำงานแบบลืมพักผ่อน รับรองว่าอาการปวดศีรษะจะมาเคาะประตูเยี่ยมเยือนบ่อยยิ่งกว่าบ่อยแน่นอน ยิ่งช่วงไหนทั้งพักผ่อนน้อย ทั้งเครียด และมีประจำเดือนแล้วล่ะก็ อาการปวดศีรษะจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เสียจนยาแก้ปวดแทบจะเอาไม่อยู่เลยทีเดียว แต่อย่าเพิ่งกังวลเรามี 9 วิธี หยุดทรมานจากอาการปวดศีรษะมาฝาก
1. 6.30 น. : ออกกำลังกายรับวันใหม่
การออกกำลังกายทุกวัน นอกจากจะช่วยให้คุณมีรูปร่างที่ดีและร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันอาการปวดศีรษะอีกด้วย ผลการศึกษาจากอาสาสมัครชาวอเมริกันพบว่า คุณผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 ขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะต้องรบกับอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มากกว่าคุณผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า
2. 9.00 น. : กาแฟหนึ่งถ้วย อาจช่วยคุณได้ หากคุณรู้สึกว่าอาการปวดศีรษะเริ่มจะมาถามหา การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน อย่างชาหรือกาแฟอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เจโรเม่ ดิซอน (Jerome Dwxon) ผู้เชี่ยวชาญด้านบำบัดอาการปวดศีรษะ แนะนำว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่อาจช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ ซึ่งในรายที่หยุดบริโภคสารคาเฟอีนแบบเฉียบพลัน จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นได้นั่นแสดงให้เห็นว่า สารคาเฟอีนมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการปวดศีรษะจริง
3. 11.45 น. : บรรเทาอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ
เมื่อนั่งทำงานได้สักพักใหญ่ ๆ คุณคงจะเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณต้นคอที่จะรู้สึกตึงเป็นพิเศษ วิธีบรรเทาอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ คือคุณควรยืดตัวตรง เอียงหูไปทางไหล่ซ้ายและไหล่ขวาช้า ๆ ทีละข้างแล้วจึงมองขึ้นข้างบนสลับกับข้างล่าง ทำซ้ำแต่ละท่าประมาณ 4-5 ครั้งต่อ 1 เซ็ต และหาโอกาสทำให้ได้ 3 เซ็ต ใน 1 วัน
4. 13.00 น. : คลายเครียดระหว่างวันด้วยแสงสว่าง
ใครจะรู้ว่าแสงสว่างในออฟฟิศมีผลต่ออาการปวดศีรษะเช่นกัน โดยเฉพาะแสงจากหลอดไฟที่สว่างไม่เพียงพอ หากคุณปรับแสงให้เหมาะสม จะช่วยลดอาการปวดศีรษะได้ นอกจากนี้คุณควรเดินออกไปสูดอากาศภายนอกออฟฟิศบ้าง เพื่อพักสายตาให้คลายความเหนื่อยล้าจากการมองจอคอมพิวเตอร์ แต่หากแสงสว่างภายนอกจ้าเกินไป ก็อย่าลืมใส่แว่นกันแดดด้วยนะ
5. 15.00 น. : จัดโต๊ะทำงานให้เหมาะสม ลดความปวดเมื่อย
ถ้าคุณต้องนั่งทำงานอยู่บนโต๊ะทั้งวัน ต้องแน่ใจว่าโต๊ะทำงานของคุณอยู่ในตำแหน่งที่จะไม่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ ตำแหน่งที่ถูกต้องคือโต๊ะของคุณจะต้องสูงระดับหน้าอก แทนที่จะอยู่ในระดับเอวของคุณ เพราะการจัดวางโต๊ะในระดับนี้จะช่วยให้คุณไม่ต้องโน้มตัวมากจนเกินไป ทำให้นั่งสบายขึ้น และคุณควรพยายามนั่งหลังตรง ๆ ด้วย
6. 16.00 น. : ทานอาหารว่างที่มีประโยชน์
ถ้าคุณมีแนวโน้มว่าจะปวดศีรษะ ควรทานอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น อาหารว่างเพื่อสุขภาพ เพื่อช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และควรหลีกเลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จที่มีส่วนผสมของผงชูรส ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ
7. 20.00 น. : วิตามินบีเสริม ลดความรุนแรงจากอาการปวดศีรษะ
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อไม่นานมานี้พบว่า การทานอาหารเสริมที่ประกอบไปด้วยวิตามินบีและโฟเลท (วิตามินในกลุ่มวิตามินบีที่ละลายน้ำได้) ช่วยลดความรุนแรงจากอาการปวดศีรษะข้างเดียว หรือไมเกรนได้อย่างมาก นักวิจัยเชื่อว่าการทานวิตามินจะช่วยลด Homocysteine ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่มีผลต่อการอุดตันของหลอดเลือดในสมอง
8. 21.00 น. : ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์นั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำหรือ Dehydration และอาการปวดศีรษะในวันรุ่งขึ้นซึ่งเกิดจากการเมาค้าง ภาวะร่างกายขาดน้ำนั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของอาการปวดศีรษะ ดังนั้นการดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยให้คุณหายปวดศีรษะได้
9. 23.00 น. : นอนให้ครบ 8 ชั่วโมง ห่างไกลไมเกรน
การนอนหลับพักผ่อนให้ครบ 8 ชั่วโมงจะช่วยป้องกันอาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะการปวดศีรษะเรื้อรังได้ เพราะการพักผ่อนนอนหลับมีความเกี่ยวข้องกับอาการปวดศีรษะโดยตรง หากคุณพักผ่อนเพียงพอก็จะช่วยลดความถี่ในการปวดศีรษะลงได้
กลยุทธ์สู้กับอาการปวดศีรษะทั้ง 9 ข้อที่คุณสามารถทำได้ตลอดทั้งวัน นอกจากจะช่วยให้อาการปวดศีรษะหนีหายไปแล้ว ยังทำให้คุณมีสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพใจที่แจ่มใสอีกด้วย เรียกได้ว่าสุขภาพดีครบสูตรเลยทีเดียว
ขอบคุณ : krapook.com
2015-10-19
สมาธิ-Maditation
ในยุคที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ การแข่งขัน และความวุ่นวายมากมาย ทำให้ใครหลายคนหันหน้าเข้าหาธรรมะ และเลือกพักผ่อนจิตใจตัวเองด้วยการนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ ทำให้ทุกวันนี้ไม่เพียงคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือปู่ย่าตายาย เท่านั้น แต่หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ก็หันมาฝึกนั่งสมาธิกันมากขึ้นด้วย
สำหรับใครที่ยังไม่เคยและอยากลองสัมผัสความสุขเล็ก ๆ และประโยชน์ดี ๆ จากการนั่งสมาธิ วันนี้เรามีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะทำให้การฝึกนั่งสมาธิของคุณเป็นเรื่องง่ายมาฝากกันค่ะ
1. จัดท่าทางให้ถูกต้อง
จริงอยู่ว่าใคร ๆ ก็นั่งขัดสมาธิ เพื่อนั่งสมาธิได้ แต่การนั่งที่ถูกต้อง คือ คุณต้องแน่ใจว่าคุณนั่งตัวตรง หัวตรง นั่นเพราะร่างกายของเราสัมพันธ์กับจิตใจค่ะ หากคุณนั่งตัวงอแล้วละก็ จิตใจของคุณก็จะล่องลอยไป ไม่อยู่กับเนื้อกับตัวนะคะ แต่ไม่ต้องนั่งเกร็งมาก ให้นั่งเหมือนเรากำลังผ่อนคลายดีที่สุด
2. เปิดตานั่งสมาธิ
บางครั้งการนั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องหลับตาเสมอไป คุณสามารถเปิดตาไว้ แต่ปรับระดับสายตาให้มองต่ำลง โดยกำหนดจุดให้เพ่งรวบรวมสมาธิไว้ เพราะบางคนเมื่อปิดตาแล้วกลับรู้สึกฟุ้งซ่าน ในหัวสมองเต็มไปด้วยเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าวิธีใดทำแล้วได้ผลมากกว่ากัน
3. กำหนดรู้ลมหายใจ
การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นการกำหนดที่ตั้งของสติ เพื่อให้จิตเราอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ๆ แต่เราไม่จำเป็นต้องไปบังคับการหายใจ แค่ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ
4. นับลมหายใจเข้า-ออก
การนับลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีปฏิบัติสมาธิมาตั้งแต่โบราณ โดยเมื่อคุณหายใจออกก็ให้คุณเริ่มนับหนึ่งในใจ ต่อไปก็เป็นสองสามสี่ตามลำดับ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกว่าความคิดของคุณกำลังล่องลอยออกไปที่อื่น ให้คุณกลับมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เพื่อให้คุณนำจิตกลับมาที่เดิม
5. ควบคุมความคิดไม่ให้เข้ามารบกวน
เมื่อคุณรู้สึกว่าคุณกำลังมีความ คิดเข้ามารบกวนจิตใจ ค่อย ๆ ขจัดความคิดเหล่านี้ออกไป โดยหันมาสนใจกับการกำหนดลมหายใจ อย่าพยายามหยุดความคิดในทันที เพราะมันจะทำให้คุณฟุ้งซ่านและไม่สามารถกลับเข้าสู่สมาธิได้อีก
6. กำจัดอารมณ์ให้หมดสิ้น
มันเป็นการยากที่จะนั่งสมาธิในขณะที่จิตของคุณเต็มไปด้วยอารมณ์ เพราะอารมณ์จะทำให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ในจิตใจ โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ กลัว เสียใจ ซึ่งไม่ได้ทำให้คุณอยู่กับปัจจุบัน หรืออยู่กับสิ่งที่เป็นในตอนนี้เลย ให้คุณจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้โดยกำหนดลมหายใจไปที่ความรู้สึกของร่างกายที่ควบคุมอารมณ์ส่วนนั้น เพราะจะทำให้คุณไม่คิดถึงเรื่องราวที่ทำให้คุณกลัว หรือโกรธอีก แต่หันมาเพ่งกับสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้แทน
7. ความเงียบบ่อเกิดแห่งความสงบ
การนั่งสมาธิควรจะนั่งในที่เงียบ ๆ เพื่อทำจิตให้ว่าง ไม่ใส่ใจถึงบุคคล เสียง หรือสิ่งอื่นที่อยู่โดยรอบ เพราะความเงียบจะนำมาซึ่งความสงบเยือกเย็น และความรู้สึกมั่นคง เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเงียบภายนอกและภายในประสานกันได้ คุณก็จะรู้สึกได้พักกายพักใจ ผ่อนคลายจากความคิดที่รบกวนคุณอยู่ตลอดมา
8. เวลาในการนั่งสมาธิ
เมื่อเริ่มต้นนั่งสมาธิใหม่ ๆ คุณอาจจะลองนั่งก่อนประมาณสัก 10 นาที และจึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าจิตคุณเริ่มนิ่งมากขึ้น แต่อย่าบังคับตัวเองให้นั่งนานเกินไปหากคุณยังไม่พร้อม ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เหมาะ คือประมาณ 25 นาที เพราะเป็นระยะเวลาที่ไม่ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยร่างกายเกินไปจนรบกวนสมาธิได้
9. สถานที่ในการนั่งสมาธิ
สถานที่และบรรยากาศก็ช่วยให้คุณทำสมาธิได้ดีขึ้น ซึ่งการนั่งสมาธิในห้องพระจะช่วยให้จิตใจสงบและรู้สึกเป็นสมาธิมาก หรือคุณอาจจะวางสิ่งเล็ก ๆ ที่คุณชอบ หรือช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายไว้รอบ ๆ ที่คุณนั่งสมาธิก็ได้
10. มีความสุขไปกับการนั่งสมาธิ
คนเราหากทำอะไรแล้วมีความสุข เราก็จะทำมันได้ดี และรู้สึกอยากทำต่อไป ในการนั่งสมาธิก็เช่นกัน หากคุณมีความสุขในการนั่งสมาธิ คุณก็จะรู้สึกผ่อนคลายสบายตัว และอยากจะทำต่อไป จนสามารถทำเป็นกิจวัตรที่ทำทุกวันได้
รับรองว่าหากเพื่อน ๆ ได้ลองฝึกนั่งสมาธิเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็จะรู้สึกได้ถึงจิตใจที่สดชื่น เบิกบาน และมีสติในการทำสิ่งต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย
ที่มา : kapook.com
การทำสมาธิ ไม่ต้องคอยให้ใจสงบ สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่ถ้าต้องการความต่อเนื่องยาวนาน และให้ได้ผลการปฏิบัติที่ดีนั้น มีหลักการเบื้องต้นและขั้นตอนดังนี้
- บริโภคน้ำอาหารมิให้อิ่มไป หิวไป ถ่ายท้อง แปรงฟัน อาบน้ำ เช็ดตัว ให้เรียบร้อย เตรียมร่างกายให้สะอาด นุ่งชุดที่ไม่คับตัว ผ้าเบาๆ สบายๆ
- หามุมสงบ ไม่เสียงดัง ไม่อึกทึก ไม่มีการรบกวนจากภายนอกได้ง่าย มีอุณหภูมิพอดี ๆ ที่นั่งที่รู้สึกสบายกับเรา เช่น อายุมากเข่าไม่ดีอาจนั่งบนเก้าอี้ก็ได้
- นั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หรือวางมือตามสะดวกที่อื่นๆ จะเป็นที่หน้าตักก็ได้ บนเข่าก็ได้ ถ้าบนเข่าอาจหงายหรือคว่ำมือก็ได้
- หลับตาเบาๆ ให้ขนตาชนกัน แต่อย่าเม้มตา
- ขยับท่าทางให้รู้สึกว่าสบาย สังเกตตัวเองว่ามีการเกร็งไหม ถ้ามีขยับผ่อนคลายความรู้สึกไม่ให้เกร็ง
- ทำใจให้โล่ง โปร่ง เบา สบาย ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ในใจ ละปริโพธ หรือความกังวลต่าง ๆ ชั่วคราว อาจตั้งกำหนดเวลาในใจ ว่าจะอุทิศให้เวลาระหว่างนี้แก่การภาวนา ทำใจให้มีความสุขเพราะแค่เราอยากมีความสุข จิตเราก็จะมีความสุขทันที ทำใจให้สนุกกับการปฏิบัติธรรม
- เมื่อสบายดีแล้ว ให้ภาวนาในใจ จะใช้ความรู้สึกจับกับลมหายใจ หายใจเข้าสั้นก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกยาวก็รู้ โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมก็ได้ จะใช้คำบริกรรมว่า ว่า พุท เมื่อหายใจออกให้กำหนดว่า โธ ก็ได้ หรือจะใช้คำบริกรรมอื่นๆ เช่น นับ 1,2,3 .. ไปเรื่อยๆ เมื่อหายใจเข้าออกครั้งหนึ่ง หรือ นะมะ-พะธะ ก็ได้เช่นกัน (วิธีการเหล่านี้ เป็นวิธีการของโบราณจารย์)
- ในระหว่างการปฏิบัติธรรม อาจจะมีเรื่องฟุ้งซ่านเข้ามาเป็นระยะ อย่าสนใจ ถ้าจิตวอกแวกจนสนใจเรื่องอื่น เมื่อได้สติ ให้เริ่มภาวนาใหม่
- อาจรู้สึกเมื่อย คัน ปวด ให้อดทน ถ้าทนไม่ไหวให้เปลี่ยนอิริยาบถแก้ เช่นเกาที่คัน แต่ให้ทำอย่างมีสติ เช่น ภาวนาว่า เมื่อยหนอๆ คันหนอๆ เกาหนอๆ ซึ่งถ้าจะลุกมาเดินจงกรมจนกว่าจะหายเวทนาก็ได้
- เมื่อใจเริ่มสงบดีแล้ว จิตกำลังผ่านขณิกสมาธิ กำลังย่างเข้าอุปจารสมาธิ อาจจะมีความรู้สึกแปลกๆ มีอาการต่างๆกันไปตามสภาวะจิต ของแต่ละคน เช่นตัวหมุน ตัวเบา สั่น ขนลุกและอื่นๆ ก็ให้วางเฉยไปตั้งใจภาวนาเรื่อยๆ
- เมื่อจิตเป็นสมาธิมากขึ้น คำภาวนาจะหายไป ให้กำหนดสภาวะที่รับรู้ได้เด่นชัดในจิต แล้วให้จิตไปจับไว้แทน เช่น ลมหายใจ
- เมื่อจิตมีสมาธิกล้าขึ้นจิตจะนิ่งสงบเหมือนผิวน้ำที่ไร้คลื่น จิตจะกำหนดอะไรเป็นองค์ภาวนาไม่ได้ชั่วคราว เราอาจจะตกใจว่าไม่มีอะไรให้กำหนดได้อาจหลุดจากสมาธิ ให้พิจารณาว่า สภาวะที่กำหนดอะไรมิได้ เป็น ธรรมชาติ คือเป็นความจริงให้กำหนดความจริงนี้แทน
- เมื่อทรงอารมณ์ไว้ได้อุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น เหมือนน้ำนิ่งจะเห็นก้นสระ จิตจะเห็นภาพสัญญาที่เก็บในภวังคจิต (จิตใต้สำนึก) คือ อารมณ์ภาวนาที่กำหนดไว้ชัดขึ้นในจิต
- เมื่อใจนิ่งได้ระดับนึง จะเริ่มเห็นความสว่างจากภายใน เป็นการเห็นด้วยใจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อันให้เกิดความเชื่อทางพุทธศาสนาต่างๆ เช่น เห็นสิ่งลี้ลับ กายทิพย์ต่างๆ หรือมีภาพ ให้เห็นเป็นเรื่องราวต่างๆ เช่นในอดีต หรือชาติที่แล้วมา หรือเหตุการณ์ในอนาคต ให้ทำใจเฉยๆอย่างเดียว หากมีข้อสงสัย หรือมีคำถาม มีสิ่งผิดปกติอะไรก็ช่าง ก็ให้บอกตัวเองว่า คิดไปเอง เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่านิมิตรนั้นจริงเท็จเพียงใด จงอย่าสนใจให้ทำสมาธิต่อไป เพราะแม้จะจริงก็จะทำให้เราล่าช้า ถ้าไม่จริงอาจทำเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือ อาจเสียสติได้ ถ้าคุมจิตมิได้ก็ให้แผ่เมตตาแก่เจ้ากรรมนายเวร
- เมื่อจิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิจะเห็นปฏิภาคนิมิตร แต่ถ้ากำหนดอานาปานสติ และวิปัสสนา จะเห็นขันธ์ 5 เกิดดับขึ้น ให้ระวังวิปัสสนูปกิเลส ถ้าผ่านไปได้ก็จะทำลายวิปลาสต่างๆ และบรรลุฌาน (ถ้าเน้นสมถกรรมฐาน) หรือญาน (ถ้าเน้นวิปัสสนา) ตามลำดับ
ข้อแนะนำ คือ ต้องทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำ ทำเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับ ทำได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความอยากจนเกินไป จนถึงกับทำให้ใจต้องสูญเสียความเป็นกลาง
Subscribe to:
Posts (Atom)